วิธีการเติมลมยาง

          คำถามสำคัญของผู้ใช้งานจักรยานมือใหม่ หรือเพิ่งซื้อรถใหม่ หรือกำลังจะต้องเปลี่ยนยางกัน คือ เราควรจะเติมลมเท่าไหร่? ที่สูบลมที่มีอยู่ใช้ได้รึเปล่า? ควรซื้อสูบแบบไหนดี? หรือยางจักรยานของเรารุ่นไหน ขนาดเท่าไหร่? คำตอบคือ ที่แท้แล้วข้อมูลเหล่านี้ถูกระบุไว้บนแก้มยางของคุณอยู่แล้ว ซึ่งเราขอขยายความไว้เป็นหัวข้อดังนี้ (ข้อมูลที่เราเสนอจะเป็นรถจักรยานประเภท commute bike, city bike และจักรยานเสือหมอบบางส่วน

          ≫ อ่านสเปคยาง
          ≫ ประเภทหัวจุ๊บ(วาล์ว)เติมลม
          ≫ เติมลมจักรยาน ด้วยแรงดันลมที่เหมาะสม
          ≫ ที่สูบลม และชนิดของหัวสูบ
          ≫ แนะนำการซื้อที่สูบลม
          ≫ ข้อมูลยางและปริมาณแรงดันลมของจักรยานโตเกียวไบค์

อ่านสเปคยาง
          ข้อมูลเกือบทั้งหมดของยางนั้นได้ถูกระบุไว้บนแก้มยางไว้แล้ว มันบอกอะไรเราได้บ้าง


          แรงดันลมสูงสุดที่ยางรองรับได้ (Max. inflate to PSI /Bar) บอกแรงดันลมสูงสุดที่ยางรับได้ คืออย่าเติมเกินนี้ จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ เช่นยางฉีก ยางแยก ยางหลุดจากขอบล้อ เป็นต้น

          ขนาดของยาง ตัวเลขบอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง และขนาดหน้ากว้างของยาง ทำให้เรารู้ถึงขนาดยางที่ใช้อยู่ได้ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่มันมีหลายมาตรฐานในการระบุ ขึ้นกับยี่ห้อ, ความนิยมของขนาดยางในกลุ่มประเทศนั้นๆ เป็นต้น ยางแต่ละรุ่นจึงอาจมีการระบุขนาดที่ต่างมาตรฐานกัน จึงสร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้งานในการเลือกซื้อยางในและยางนอก
          มาตรฐานของยางที่เห็นใช้กันอยู่มี 3 มาตรฐานคือ (เข้าเทคนิคนิดหน่อยครับ หรือกระโดดข้ามไปอ่านสรุปท้ายส่วนนี้ได้เลย)
          British / USA Size จะเห็นตัวเลขเช่น 26 x 1.15, 26 x 1-1/4 เป็นต้น เส้นผ่าศูนย์กลาง x หน้ากว้าง (dimeter x tire witdh) หน่วยเป็นนิ้ว (inch) มาตรฐานนี้เป็นที่นิยมกันมานาน แต่อาจทำให้เกิดความสับสนได้มาก เนื่องจาก ค่าเส้นผ่าศูนย์กลางนั้นวัดจากขอบยางถึงยาง เค้าเหมารวมความสูงของยางที่ใส่เข้าไปด้วย แต่ยางนั่นมีหลายประเภททั้งแก้มสูง-แก้มเตี้ย ตัววงจึงไม่เท่ากัน ซึ่งอาจทำให้สับสนซื้อผิดได้
          French Size จะเห็นตัวเลขเช่น 650x25c, 700x23c เป็นต้น คือ เส้นผ่าศูนย์กลาง x หน้ากว้างของยาง หน่วยเป็นมิลิเมตร และวัดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ขอบล้อถึงขอบล้อ มาตรฐานนี้จะเที่ยงตรงกว่า ไม่สับสน แต่เนื่องจากขนาดยางไม่หลากหลาย จึงมีเฉพาะบางรุ่น
          ISO (ETRTO) เป็นมาตรฐานใหม่ที่ผู้ผลิตยอมระบุบนยางจักรยาน ตัวอย่างเช่น 32-559, 28-622 คือ หน้ากว้างของยาง-เส้นผ่าศูนย์กลาง หน่วยเป็นมิลิเมตร วัดจากขอบใน (หรือ bead seat ซึ่งจะสั้นกว่าการวัดแบบ French นิดหน่อย)

          สรุปตรงนี้ดีกว่า คือถ้าจะไปซื้อยาง ให้บอกตัวเลขขนาดของยางไปให้หมดทั้งเส้นผ่าศูนย์กลางและหน้ากว้างของยาง โดยเฉพาะ ISO รับรองไม่ผิดแน่ๆครับ และให้ทางร้านคอนเฟิร์มว่าต้องใส่ให้ได้ครับ สำหรับยางในก็ต้องพอดีกับขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลาง ไม่เอาใหญามาใส่เล็ก ไม่เอาเล็กใส่ใหญ่ และหน้ากว้างของยางในก็ควรอยู่ในช่วงที่ครอบคลุมถึงหน้ายาง โดยยางรุ่นใหม่ก็มีมาตรฐาน ISO ระบุไว้กันสับสนแล้วด้วย

ประเภทหัวจุ๊บเติมลม หรือ วาล์วยางใน (Bicycle inner tube valve types)

เราจะเห็นหัวจุ๊บเติมลมจักรยาน 3 ประเภท คือ

          Presta valve (จุ๊บหัวเล็ก หรือ French valve) โดยเห็นมากในจักรยานที่ใช้แรงดันสูง เช่นจักรยานเสือหมอบ วิธีการเติมต้องคลายเกรียวน็อตปิดลมออกจึงจะเติมลมได้ และต้องหมุนปิดเมื่อเติมเสร็จ (ส่วนตัวจุกปิดฝาลมกันฝุ่น ไม่ได้เป็นตัวกันลม)
          Schrader valve (จุ๊บหัวใหญ่ หรือ American valve) หรือที่เรียกว่าหัว auto valve เหมือนกับที่ใช้ในรถยนต์ทั่วไป ส่วนใหญ่ใช้กับรถที่ใช้แรงดันลมต่ำกว่า เช่นรถ commuter bike, city bike, จักรยานเสือภูเขาเป็นต้น ข้อดี หาสูบง่าย เติมที่ปั๊มน้ำมันได้ วิธีเติมลม เติมได้เลย (ถอดจุกกันฝุ่นออกก่อนนะ 🙂 ตัวจุกปิดฝาลมกันฝุ่น ไม่ได้เป็นตัวกันลม)
          Dunlop valve (จุ๊บหัวไส้ไก่ หรือ British valve) หัวแบบเก่า จะเจอมากในรถรุ่นเก่าๆ และรถจากประเทศญี่ปุ่น จักรยานแม่บ้านญี่ปุ่น ลักษณะข้างในเป็นยางที่เรียกว่าไส้ไก่ สึกหลอ ขาดได้ ไม่ค่อยเห็นในรถรุ่นใหม่ๆ ที่สูบเติมลมก็หายากเช่นกัน ต้องใช้ตัวแปลงหัวเพื่อจะสูบกับสูบรุ่นปัจจุบัน และไม่สามารถวัดแรงดันผ่านสูบได้ จักรยานที่ใช้อยู่ควรพิจารณาเปลี่ยนยางในที่เป็นหัวใหญ่แทนเมื่อมีโอกาส


          ***ดังนั้นต้องรู้ว่าจักรยานของเราเป็นหัวแบบไหน เมื่อเวลาเติมลมจึงนะเลือกหัวสูบได้ถูกต้องนะครับ

เติมลมจักรยาน ด้วยแรงดันลมที่เหมาะสม
          วิธีคิดคร่าวๆ เมื่อรู้แรงดันสูงสุดที่รับได้แล้ว ให้เติมลม 70-80% ของ maximum เช่น 125 psi ให้เติม 85-100 psi ทั้งนี้แรงดันที่เหมาะสมอาจขึ้นอยู่กับน้ำหนักรวมของคนขี่ด้วย เช่นถ้าคนตัวใหญ่น้ำหนักเยอะอาจชดเชยเติมลมเพิ่มกว่าปรกติ หรือกรณีตัวเล็กก็กลับกัน เป็นต้น และปัจจัยเรื่องสภาพถนน และความต้องการความนุ่มนวลที่มากขึ้นในบางกรณี แต่ไม่ควรเติมน้อยเกินไปจะทำให้ยางมีปัญหาได้ “เติมลม 70-80% ของ maximum pressure ของยาง เช่น 125 psi ให้เติม 85-100 psi”
          ข้อสังเกตุที่คนมักแปลกใจประจำคือ ยางที่มีขนาดเล็ก (volumn น้อย) มักใช้แรงดันที่สูง แต่ยางใหญ่ (volumn มาก) นั้นจะใช้แรงดันน้อย ตามหลักวิทยาศาสตร์ และข้อควรระวังคือยางในต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับยางนอก และรับแรงดันได้พอๆกัน

ที่สูบลม และชนิดของหัวสูบ
          ตามที่ให้ข้อมูลประเภทของหัวจุ๊บลมจักรยานไปแล้ว เราก็ต้องซื้อสูบที่สามารถเติมรถเราได้ (และรถคันอื่นๆของเราได้ด้วย) หัววาล์วรุ่นปัจุบัน ประเภทหัวเล็กและหัวใหญ่ ไม่ค่อยจะมีปัญหา เพราะสูบส่วนมากรองรับทั้ง 2 แบบ แต่จะมีลักษณะของหัวสูบแตกต่างกันไปตามยี่ห้อเช่น หัวรูเดียวสูบได้ทั้งสองแบบ หัวสองรูแยกกันสูบหัวใครหัวมัน หรือแบบที่ซับซ้อนหน่อยที่ต้องสลับกลไกข้างในแต่ก็สูบได้ แต่หัวแบบไส้ไก่นั้นที่สูบอาจหายาก ต้องใช้ตัวแปลง (adaptor) มาช่วยให้สามารถสูบด้วยสูบหัวใหญ่ได้ เราจึงแนะนำให้ใครที่ยังใช้ยางในแบบไส้ไก่เปลี่ยนมาใช้วาล์วหัวใหญ่เมื่อเปลี่ยนยางในครั้งถัดไป



แนะนำการซื้อที่สูบลม
ที่สูบลมสำหรับใช้ที่บ้าน (ไม่รวมแบบพกพา) ที่แนะนำเราเองจัดแยกได้เป็น 3 กลุ่ม
          1. ราคาดี ทำจากพลาสติก มีที่วัดแรงดัน ราคาถูก (ต่ำกว่า 1,000) ข้อด้อย สูบยางแรงดันได้พอประมาณ (เกินร้อยได้นิดหน่อย) แต่ต้องออกแรงเยอะในช่วงแรงดันสูง ไม่เหมาะกับผู้หญิงตัวเล็กๆ
          2. ราคาปานกลาง (1,000 - 2,000++) เป็นโหละ สวยงาม มีที่วัดแรงดันที่ค่อนข้างถูกต้อง สูบยางแรงดันสูงได้ (ถึงร้อยปลายๆ) สูบง่าย ออกแรงน้อย แต่ราคาสูง และวิธีล็อกหัว เปลี่ยนหัวสูบค่อนข้างซับซ้อน
          3. สูบของขาแรง ที่ต้องการเติมลมเกิน 200psi สำหรับยางฮาฟ (ไม่มียางใน) ที่รองรับแรงดันสูงมากๆได้ ราคาสูง และอาจมีแค่หัว presta เท่านั้น
ดังนั้นข้อสำคัญของการซื้อสูบคือ เลือกที่รองรับหัวจุ๊บจักรยานของเรา คุณภาพและแรงที่ใช้ในการสูบเป็นหลัก

          ***คำแนะนำ ก่อนทำการขี่ควรเติมลมในปริมาณที่ถูกต้องก่อนขี่ เพราะถ้าลมน้อยจะเกิดความเสียหายกับยางแน่นนอน และเมื่อไม่ได้ใช้รถเป็นเวลานาน อาจมีการซึมออกของลมได้ ควรเติมลมจักรยานให้มีลมอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้ยางแบนสนิด จะเกิดการกดทับที่ใดที่หนึ่งเกิดความเสียหายได้เช่นกัน โดยปรกติยางในจักรยานจะมีลมซึมออกมาได้ในขณะจอด อาจมากถึง 20 psi ในอาทิตย์แรก ก็เป็นเรื่องปรกติ